คำขวัญอำเภอแจ้ห่ม

พญาลือคู่บ้าน มะขามหวานคู่เมือง เงาพระธาตุลือเลื่อง เมืองน้ำปูดี

ข้อมูลทั่วไป


แผนที่แสดงอาณาเขตที่ตั้งอำเภอและตำบล  อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง

ข้อมูลทั่วไป
พื้นที่    1,349.1 ตร.กม.
ประชากร        34,956 คน (31 มีนาคม  2557)
ความหนาแน่น   25.91 คน/ตร.กม.

ที่ตั้งและอาณาเขต
อำเภอแจ้ห่มตั้งอยู่ทางทิศเหนือของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้
ทิศเหนือ          ติดต่อกับอำเภอวังเหนือ
ทิศตะวันออก     ติดต่อกับอำเภองาวและอำเภอแม่เมาะ
ทิศใต้             ติดต่อกับอำเภอเมืองลำปาง
ทิศตะวันตก      ติดต่อกับอำเภอเมืองปาน


ประวัติ

ประวัติอำเภอแจ้ห่ม ตามตำนานพงศาวดารโยนกได้กล่าวว่าในราวพ.ศ. 1801 สมัยพระยางำเมืองได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินครองราชสมบัติแว่นแคว้นพะเยานครซึ่งในประวัติศาสตร์อำเภอแจ้ห่มได้กล่าวว่าในปีนั้นได้ส่งพญาคำแดงผู้ราชบุตรมาครองเมืองแจ้ห่มในฐานะพระยุพราชพญาคำแดงผู้ราชบุตรได้ครองเมืองพะเยาเป็นอันดับที่ 13 ของราชวงศ์พะเยา และส่งพญาคำลือผู้ราชบุตรให้มาครองเมืองแจ้ห่ม ในฐานะพระยุพราชเช่นเดียวกันจากการตรวจสอบทั้งด้านภูมิประเทศ ภาพถ่ายทางอากาศ เอกสารตำนานและนิทานพื้นบ้านต่างๆ อาจสรุปได้ถึงลักษณะเมืองแจ้ห่มโบราณว่า ในพื้นที่ดังกล่าว น่าจะมีเมืองลัวะที่สร้างขึ้นบนดอยเตี้ยๆใกล้บ้านสบมอญซึ่งมีคูคัน-ดินแบบอาศัยธรรมชาติเป็นรูปทรงของเมืองหลังจากที่เมืองถูกทิ้งให้รกร้างว่างเปล่าไปแล้ว ได้เกิดการสร้างเมืองขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่งในสมัยพ่อขุนจอมธรรมและมีสถานะภาพเป็นเมืองลูกหลวงหรือเมืองอุปราชของเมืองพะเยา เพราะเมื่อกษัตริย์ที่เมืองพะเยาสวรรคตแล้ว เจ้าเมืองที่ได้มาครองเมืองแจ้ห่มทุกพระองค์จะต้องเสด็จไปครองราชย์ที่เมืองพะเยาเสมอ เมืองแจ้ห่มอาจล่มสลายไปครั้งหนึ่งเพราะเหตุอุทกภัย แล้วสร้างขึ้นใหม่ อยู่สืบต่อมาจนอาณาจักรล้านนา ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า เมืองแจ้ห่มก็น่าที่จะตกอยู่ในการปกครองของพม่าด้วย ดังปรากฏร่องรอยของสถาปัตยกรรมแบบพม่าขึ้นหลายแห่งที่อำเภอแจ้ห่ม ภายหลังจากที่อาณาจักรล้านนาเป็นอิสระจากการปกครองของพม่า เมืองแจ้ห่มจึงกลับมาอยู่ในความปกครองของนครลำปาง เจ้านครลำปางได้ตั้งให้ญาติวงศ์มาประจำอยู่เมืองแจ้ห่ม คอยดูแลเก็บส่วยต่างๆส่งเข้าไปถวายเจ้าผู้ครองทุกปี เช่น ส่วยเหมี้ยง,ขี้ผึ้ง เป็นต้น ต่อมาเมื่อมีพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ประกาศใช้บังคับ ก็ได้มีการตั้งเมืองแจ้ห่ม เป็นอำเภอแจ้ห่ม และได้ก่อสร้างที่ว่าการอำเภอแจ้ห่ม หลังแรกขึ้น ณ สถานที่บ้านป่าแดด ซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่า หนองม่วงขอ โดยมี นายเป้า (พระภูธรธุรรักษ์) เป็นนายอำเภอคนแรก สมัยนั้นชาวบ้านเรียก ที่ว่าการอำเภอว่า ศาลอำเภอ เรียกนายอำเภอว่า เจ้าอำเภอ ต่อมาได้มีการย้ายที่ว่าการอำเภอมาสร้างขึ้นใหม่ตำบลแจ้ห่ม ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสำนักงานเทศบาลตำบลแจ้ห่ม


ประชากร

มีหลังคาเรือน 12,101 ครัวเรือน จำนวน 34,956 คน แยกเป็นชาย 17,297 คน หญิง 17659 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม


การปกครองส่วนภูมิภาค

อำเภอแจ้ห่มแบ่งเขตการปกครองย่อยออกเป็น 7 ตำบล 64 หมู่บ้าน ได้แก่
1.       แจ้ห่ม             11 หมู่บ้าน                                                      
2.       บ้านสา           10 หมู่บ้าน                                                      
3.       ปงดอน           8 หมู่บ้าน                                                       
4.       แม่สุก             12 หมู่บ้าน      
5.       เมืองมาย         6 หมู่บ้าน
6.       ทุ่งผึ้ง              6 หมู่บ้าน
7.       วิเชตนคร         11 หมู่บ้าน


การปกครองส่วนท้องถิ่น

ท้องที่อำเภอแจ้ห่มประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 8 แห่ง ได้แก่
-                   เทศบาลตำบลแจ้ห่ม ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลแจ้ห่ม
-                   เทศบาลตำบลบ้านสา ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านสาทั้งตำบล
-                   เทศบาลตำบลทุ่งผึ้ง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลทุ่งผึ้งทั้งตำบล
-                   องค์การบริหารส่วนตำบลแจ้ห่ม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลแจ้ห่ม (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลแจ้ห่ม)
-                   องค์การบริหารส่วนตำบลแม่สุก ครอบคลุมพื้นที่ตำบลแม่สุกทั้งตำบล
-                   องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองมาย ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเมืองมายทั้งตำบล
-                   องค์การบริหารส่วนตำบลวิเชตนคร ครอบคลุมพื้นที่ตำบลวิเชตนครทั้งตำบล
-                   องค์การบริหารส่วนตำบลปงดอน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลปงดอนทั้งตำบล

สถานศึกษาอำเภอแจ้ห่ม มีสถานศึกษาหลัก คือ

โรงเรียนแจ้ห่มวิทยา เปิดสอนในระดับมัธยม หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน และหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)
โรงเรียนอนุบาลแจ้ห่ม


สถานที่ท่องเที่ยว

-          เขื่อนกิ่วคอหมา
-          วัดเฉลิมพระเกียรติพระจอมเกล้าราชานุสรณ์ (วัดดอยพระบาทปู่ผาแดง) มีถ้ำหินงอกหินย้อยที่สวยงาม ดอยผาแดง รอยพระพุทธบาท และดอยปู่ยักษ์ เส้นทางใช้เส้นทางทางเข้าบ้านใหม่เหล่ายาว หมู่ที่ 8 ตำบลวิเชตนคร มีจุดชมวิวบนยอดดอยสูงสุดของดอยพระบาทที่สามารถมองเห็นทัศนียภาพของเมืองแจ้ห่มและเมืองปานได้อย่างชัดเจน มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 815 เมตร
-          วัดอักโขชัยคีรี วัดเก่าแก่คู่อำเภอแจ้ห่ม ตั้งสง่าอยู่บนเขาติดถนน ลำปาง-แจ้ห่ม เมื่อเข้ามาที่วัดจะสามารถชมทัศนียภาพทั่วเมืองแจ้ห่ม มีพระนอน และอนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาคำลือผู้ปกครองเมืองแจ้ห่มในอดีตให้เคารพสักการะ และยังมีปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเงาพระธาตุกลับหัวให้รับชม
-          หมู่บ้านสำเภาทอง หมู่บ้านเล็กๆ ที่อยู่ติดแม่น้ำวัง เหนือเขื่อนกิ่วลม ตั้งอยู่บนพื้นที่ ต.บ้านสา สามารถเดินทางมาพักผ่อนที่โฮมสเตย์ ของชาวบ้าน หรือล่องแพ ไปตามบริเวณอ่างเก็บน้ำของเขื่อน ในฤดูหนาว จะมีทิวทัศน์ที่สวยงาม ซึ่งมีบรรยากาศคล้ายๆ กับเมืองกุ้ยหลิน ประเทศจีน
-          เขื่อนกิ่วคอหมา เป็นเขื่อนกั้นแม่น้ำวัง สร้างเสร็จเมื่อปี 2551 เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่สามารถชมทัศนียภาพบริเวณเหนืออ่างเก็บน้ำได้
-          น้ำตกตาดหมอก เป็นน้ำตกธรรมชาติที่สวยงาม อยู่ในพื้นที่บ้านนาไหม้ หมู่ที่ 2 ตำบลเมืองมาย ระยะทางจากหมู่บ้านถึงน้ำตกประมาณ 12 กม. เส้นทางเข้าสู่น้ำตกลำบากมากในช่วงฤดูฝน เข้าไปเที่ยวชมได้ง่ายในฤดูแล้ง
-          น้ำตกตาดเหมย ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท น้ำตกมีทั้งหมด 9 ชั้น มีน้ำไหลตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤษภาคม-กันยายน จะสวยงามมาก การเดินทางเข้าสู่น้ำตกตาดเหมยใช้เส้นทางจากบ้านทุ่งฮ้าง หมู่ที่ 1 ต.ทุ่งผึ้ง-น้ำตกตาดเหมย ระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร ควรใช้ยานพาหนะเป็นรถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อ บริเวณน้ำตกตาดเหมยเป็นที่ตั้งของที่ทำการหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไทที่ 3(น้ำตกตาดเหมย) มีพื้นสนามที่กว้างขวาง เหมาะแก่การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
-          วัดศรีหลวง เป็นวัดเก่าแก่ในตัวเมืองแจ้ห่ม มีพระพุทธรูปสำคัญคือ พระเจ้าทองทิพย์ อันเป็นที่เคารพและสักการะของชาวแจ้ห่ม

-          พิพิธภัณฑ์สถานศูนย์ภูมิปัญญาท้องถิ่นอำเภอแจ้ห่ม เป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมประวัติความเป็นมา และภูมิปัญญาของชาวแจ้ห่มตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันให้ได้รับชม ตั้งอยู่ในอาณาเขตของโรงเรียนแจ้ห่มวิทยา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ข่าวสาร

ข่าวสมัครงาน